Thumb

สรุปย่อ กฎหมายว่าด้วยการศึกษาปฐมวัย

เด็กปฐมวัย

          หมายความว่า เด็กซึ่งมีอายุต่ำกว่าหกปีบริบูรณ์ และให้หมายความรวมถึง เด็กซึ่งต้องได้รับการพัฒนาก่อนเข้ารับการศึกษาในระดับประถมศึกษา

          กฎหมายฉบับพระราชบัญญัติการพัฒนาเด็กปฐมวัย พ.ศ. ๒๕๖๒ นี้ได้กำหนดช่วงอายุของเด็กปฐมวัยที่จะได้รับการดูแลและพัฒนาเริ่มตั้งแต่เด็กมีสภาพบุคคลตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ดังนั้น การดูแลและพัฒนาเด็กปฐมวัยจะเริ่มตั้งแต่เป็นทารก

          ทั้งนี้ ในคำนิยามยังระบุว่าเด็กปฐมวัย หมายความรวมถึง เด็กซึ่งต้องได้รับการพัฒนาก่อนเข้ารับการศึกษาในระดับประถมศึกษา พระราชบัญญัติการพัฒนาเด็กปฐมวัย พ.ศ. ๒๕๖๒ นี้จึงให้ความคุ้มครองไปถึงเด็กที่อายุเกินหกปี ที่ยังมีพัฒนาการไม่สมกับช่วงวัยและกลุ่มเด็กที่มีความต้องการจำเป็นพิเศษ เพื่อให้ได้รับการดูแลและพัฒนาตามสิทธิที่เด็กปฐมวัยควรได้รับ

 

การพัฒนาเด็กปฐมวัย

          หมายความว่า การดูแล การพัฒนา และการจัดการเรียนรู้สำหรับเด็กปฐมวัย หญิงตั้งครรภ์ หรือผู้ดูแลเด็กปฐมวัย

          กฎหมายฉบับนี้ได้กำหนดความหมายของการพัฒนาเด็กปฐมวัยโดยให้ครอบคลุมไปถึงการดูแล การพัฒนา และการจัดการเรียนรู้ซึ่งสามารถพิจารณาขอบเขตของการพัฒนาเด็กปฐมวัยโดยพิจารณาความหมายของคำที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาเด็กปฐมวัย ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๕๔ ดังนี้

          การดูแล หมายถึง การเอาใจใส่ให้เป็นไปด้วยดี เช่น การดูแล เอาใจใส่ในเรื่องสุขภาพอนามัย ชีวิตความเป็นอยู่ สภาพแวดล้อมการสร้างเวลาคุณภาพ การแสดงออกถึงความรัก ความอบอุ่น

          การพัฒนา หมายถึง การทำให้เจริญ ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น เช่น มีคุณลักษณะที่พึงประสงค์ มีพฤติกรรมที่เหมาะสมมีความรู้ความสามารถที่เพิ่มขึ้น มีทักษะที่จำเป็นเพิ่มพูนขึ้น เป็นต้น

          การจัดการเรียนรู้ หมายความว่า การจัดสถานการณ์สภาพการณ์ หรือกิจกรรมการเรียนรู้ให้ผู้เรียน ได้มีประสบการณ์ อันก่อให้เกิดการเรียนรู้ได้ง่าย ซึ่งจะส่งผลให้ผู้เรียนมีความเจริญงอกงาม และมีพัฒนาการ ทั้งทางด้านร่างกาย สติปัญญา อารมณ์จิตใจ และด้านสังคม

          การพัฒนาเด็กปฐมวัย ต้องครอบคลุมทั้งการดูแล พัฒนา และจัดการเรียนรู้ เพราะเด็กต้องได้รับการดูแลเลี้ยงดูเอาใจใส่ ได้รับการพัฒนาเหมาะสมกับวัย ทั้งด้านร่างกาย อารมณ์ จิตใจ สังคมและสติปัญญาอย่างมีคุณภาพและต่อเนื่อง ได้รับประสบการณ์ที่ก่อให้การเรียนรู้ผ่านการเล่น และการลงมือทำ ภายใต้สภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเรียนรู้เพื่อให้เด็กปฐมวัย นอกจากจะมุ่งพัฒนาที่เด็กปฐมวัยโดยตรงแล้ว ในนิยามการพัฒนาเด็กปฐมวัย ยังครอบคลุมถึงการดูแลการพัฒนา และจัดการเรียนรู้ แก่หญิงตั้งครรภ์และผู้ดูแลเด็กปฐมวัยด้วยเพื่อให้มารดาและผู้เลี้ยงดู เป็นผู้ที่มีความรู้และทักษะในการพัฒนาเด็กปฐมวัย ตั้งแต่ปฏิสนธิในครรภ์มารดา ต่อเนื่องจนถึงอายุ ๖ ปีบริบูรณ์ ตลอดจนถึงช่วงรอยต่อก่อนที่จะเข้ารับการศึกษาในระดับประถมศึกษา เพราะเหตุที่ว่า การพัฒนาเด็กปฐมวัยมีความสำคัญต่อการพัฒนาประเทศและเป็นจุดเริ่มต้นของการเป็นประชาชนที่มีคุณภาพในอนาคต ด้วยเหตุดังกล่าวการพัฒนาเด็กปฐมวัยในพระราชบัญญัตินี้จึงได้ให้ความหมายที่ครอบคลุมและชัดเจนซึ่งมีความ สอดคล้องกับระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัฒนาเด็กปฐมวัย พ.ศ. ๒๕๕๑

 

ผู้ดูแลเด็กปฐมวัย  

          หมายความว่า บิดา มารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ซึ่งเลี้ยงดูเด็กปฐมวัย

          กฎหมายฉบับนี้ได้กำหนดความหมายของผู้ดูแลเด็กปฐมวัยไว้อย่างกว้างขวางเพื่อกำหนดหน้าที่ให้กับบุคคลใดก็ตามซึ่งมีเด็กอยู่ในความดูแล ต้องปฏิบัติต่อเด็กอย่างเหมาะสม เพื่อให้เด็กได้รับการพัฒนาตามแนวปฏิบัติที่ดีเกี่ยวกับการพัฒนาเด็กปฐมวัยเพื่อให้เกิดความชัดเจนว่าผู้ดูแลเด็ก หมายถึง บุคคลใดบ้างโดยกำหนดให้

          บิดา หมายความว่า ผู้ให้กำเนิดบุตร นอกจากนี้ยังหมายความรวมถึงบิดาที่ชอบด้วยกฎหมาย ที่จดทะเบียนสมรสกับมารดา หรือ บิดาที่จดทะเบียนรับรองบุตร ตามมาตรา ๑๕๔๘ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์รวมถึงกรณีที่ศาลพิพากษาว่าเป็นบุตร และถึงกรณีจดทะเบียนรับเป็นบุตรบุญธรรมด้วย

          มารดา หมายความว่า ผู้ให้กำเนิดบุตร รวมถึงผู้ที่ให้การเลี้ยงดูและจดทะเบียนรับเป็นบุตรบุญธรรม

          ผู้ปกครอง หมายความว่า ผู้มีอำนาจในการดูแลเด็กปฐมวัยซึ่งมีความสอดคล้องกับมาตรา ๔ แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ. ๒๕๔๖ โดยมีอยู่ ๒ ประเภท

                    ๑. คือผู้ปกครองโดยสายเลือด กล่าวคือ ผู้ที่ใช้อำนาจปกครอง ดูแลเด็กปฐมวัย ซึ่งมีความสัมพันธ์ทางสายโลหิต

                    ๒. ผู้ปกครองโดยสังคม กล่าวคือ ผู้ที่ใช้อำนาจปกครอง ดูแลเด็กปฐมวัย โดยไม่จำเป็นต้องเป็นผู้ให้กำเนิด หรือมีความสัมพันธ์ทางสายโลหิตกับเด็กปฐมวัย นอกจากนี้ยังรวมถึงผู้อนุบาลและผู้พิทักษ์ตามที่กำหนดในมาตรา ๑๕๘๕ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ซึ่งเป็นบุคคลที่ศาลตั้งให้ใช้อำนาจปกครองผู้เยาว์ที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะและไม่มีบิดามารดา หรือบิดามารดาถูกถอนอำนาจปกครอง

          ผู้ซึ่งเลี้ยงดูเด็กปฐมวัย กฎหมายอาจไม่ได้กำหนดนิยามไว้แน่ชัดแต่อาจจะเทียบเคียงความหมายได้จากความหมายของ “การเลี้ยงดู” ตามที่ปรากฎในพจนานุกรม จึงอาจนิยามความหมายของผู้ซึ่งเลี้ยงดูเด็กปฐมวัย โดยให้ถือว่าเป็นบุคคลซึ่งมีหน้าที่ในการให้ความรัก ความรู้และมีความเข้าใจในพัฒนาการของเด็ก เป็นผู้ให้อิสระและผู้ให้โอกาสในการตัดสินใจ รวมถึงการส่งเสริมและสนับสนุนให้เด็กดูแลตนเองได้

 

สถานพัฒนาเด็กปฐมวัย

          หมายความว่า ศูนย์เด็กเล็ก ศูนย์พัฒนา เด็กเล็ก ศูนย์บริการช่วยเหลือ ระยะแรกเริ่มของเด็กพิการหรือ เด็กซึ่งมีความต้องการพิเศษสถานรับเลี้ยงเด็กและสถานสงเคราะห์ ตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองเด็กซึ่งมีเด็กปฐมวัยอยู่ในความคุ้มครองดูแล หรือสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยที่เรียกชื่ออย่างอื่น รวมทั้งโรงเรียน ศูนย์การเรียนหน่วยงานการศึกษา หรือหน่วยงานอื่น ของรัฐหรือเอกชน และสถาบันศาสนาที่มีวัตถุประสงค์ในการจัดการศึกษาให้แก่เด็กปฐมวัย

          กฎหมายฉบับนี้ได้กำหนดความหมายของสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยไว้อย่างกว้างขวางและครอบคลุมการดำเนินงานของทุกหน่วยงานทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับเด็กปฐมวัย โดยมุ่งเน้นที่วัตถุประสงค์ในการดูแลพัฒนาและจัดการเรียนรู้ให้แก่เด็กปฐมวัยเป็นหลัก แต่อาจมีจุดเน้น หรือจัดสำหรับช่วงวัยที่แตกต่างกัน ซึ่งในปัจจุบันมีหน่วยงานที่ดำเนินการและใช้ชื่อที่หลากหลาย

 

คณะกรรมการ

          หมายความว่า คณะกรรมการนโยบายการพัฒนาเด็กปฐมวัย

          กฎหมายฉบับนี้ "คณะกรรมการ" หมายความถึง "คณะกรรมการนโยบายการพัฒนาเด็กปฐมวัย" มีอำนาจหน้าที่หลักในการจัดทำภารกิจค้านนโยบายระดับชาติ ด้านส่งเสริมการพัฒนาเด็กปฐมวัยและด้านขับเคลื่อนและบูรณาการหน่วยงานทุกภาคส่วนให้เป็นไปตามนโยบายระดับชาติซึ่งสอดคล้องและพัฒนาต่อยอดการดำเนินงานที่ผ่านมาของคณะกรรมการพัฒนาเด็กปฐมวัยที่ตั้งขึ้นตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัฒนาเด็กปฐมวัย พ.ศ. ๒๕๕๑

 

ผู้รักษาการ (มาตรา ๔)

          ให้นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระหรวงศึกษาธิการรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้

          โดยที่พระราชบัญญัติการพัฒนาเด็กปฐมวัย พ.ศ. ๒๕๖๒ มีเจตนารมณ์เพื่อยกระดับความสำคัญของการพัฒนาเด็กปฐมวัยให้อยู่ในลำดับต้นของวาระแห่งชาติ เพื่อให้เด็กปฐมวัยทุกคนในประเทศไทยได้รับการดูแลพัฒนา และจัดการเรียนรู้อย่างมีคุณภาพตามหลักวิชาการ ด้วยเหตุนี้ จึงเห็นควรให้นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นผู้รักษาการตามพระราชบัญญัติมีกฎหมายฉบับนี้ได้กำหนด ให้นายกรัฐมนตรีเป็นประธานคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาเด็กปฐมวัยด้วย ทั้งนี้ในส่วนการกำหนดให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการร่วมรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ด้วย เนื่องจากกระทรวงศึกษาธิการ มีหน้าที่กำกับดูแลการปฏิบัติงานของสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา ซึ่งทำหน้าที่เป็นสำนักงานเลขานุการของคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาเด็กปฐมวัย

การพัฒนาเด็กปฐมวัยตามพระราชบัญญัตินี้ มีวัตถุประสงค์ ดังต่อไปนี้ (มาตรา ๕)

          (๑) ให้มารดาได้รับการดูแลในระหว่างตั้งครรภ์เพื่อให้บุตรที่อยู่ในครรภ์มีสุขภาวะและพัฒนาการที่ดี

          (๒) ให้เด็กปฐมวัยอยู่รอดปลอดภัยและได้รับความคุ้มครองให้พ้นจากการล่วงละเมิดไม่ว่าในทางใด

          (๓) ให้เด็กปฐมวัยมีพัฒนาการที่ดีรอบด้านทั้งทางร่างกายจิตใจ วินัย อารมณ์ สังคม และสติปัญญา ให้สมกับวัย เพื่อให้เกิดทักษะพื้นฐานในการเรียนรู้อย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต สามารถเรียนรู้อย่างสอดคล้องกับหลักการพัฒนาศักยภาพของแต่ละบุคคลและความต้องการจำเป็นพิเศษ

          (๔) สร้างคุณลักษณะให้เด็กปฐมวัยมีอุปนิสัยใฝ่ดี มีคุณธรรมมีวินัย ใฝ่รู้ มีความคิด สร้างสรรค์ และสามารถซึมซับสุนทรียะและวัฒนธรรมที่หลากหลายได้

          (๕) บ่มเพาะเจตคติของเด็กปฐมวัย ให้เคารพคุณค่าของบุคคลอื่นมีจิตวิญญาณของการอยู่ร่วมกันในสังคมอย่างเสมอภาค และมีจิตสำนึกในความเป็นพลเมืองไทยและพลโลก

          (๖) ให้ผู้ดูแลเด็กปฐมวัยได้รับความรู้ ทักษะ และเจตคติที่ดีในการพัฒนาเด็กปฐมวัย

          การที่กำหนดให้เด็กทุกคนมีสิทธิที่จะได้รับการดูแล ให้อยู่รอดปลอดภัย และให้ได้รับความคุ้มครองให้พ้นจากการล่วงละเมิดเพื่อให้เติบโต มีพัฒนาการที่ดีในสิ่งแวดล้อมที่ปลอดภัยอย่างเสมอภาคกัน เป็นหน้าที่ของรัฐ ผู้ปกครอง และทุกส่วนของสังคมจะต้องร่วมรับผิดชอบ โดยความปลอดภัย ถือเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์ (safety right is a fundamental human right ซึ่งสอดคล้องกับอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก

 

          วัตถุประสงค์ในการพัฒนาเด็กปฐมวัยเพื่อให้มีพัฒนาการที่ดีรอบด้าน เนื่องด้วยต้องการส่งเสริมทักษะพื้นฐานในการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งในการพัฒนาเด็กปฐมวัยที่ดีควรมีการพัฒนาให้ครอบคลุมพัฒนาการทั้ง ๔ ด้าน  ดังนี้

          ๑. พัฒนาการด้านร่างกาย

          ๒. พัฒนาการด้านสติปัญญา

          ๓. พัฒนาการด้านอารมณ์ จิตใจ

          ๔. พัฒนาการด้านสังคม

 

การสร้างคุณลักษณะของเด็กปฐมวัย

          คือ การสร้างเด็กปฐมวัยให้มีคุณลักษณะอันพึงประสงค์ ซึ่งตามหลักสูตรการศึกษาปฐมวัยพุทธศักราช ๒๕๖๐ ได้กำหนดคุณลักษณะที่พึงประสงค์ โดยแบ่งตามช่วงวัยเพื่อใช้เป็นแนวทางการอบรมเลี้ยงดูและส่งเสริมพัฒนาการและการเรียนรู้อย่างเหมาะสมกับเด็กเป็นรายบุคคล

 

การบ่มเพาะเจตคติกับเด็กปฐมวัย

          คือ การสร้างความรู้สึกนึกคิดที่ดีให้เกิดขึ้นในตัวเด็ก เพื่อให้แสดงออกอย่างเหมาะสม เจตคติที่ได้รับการบ่มเพาะตั้งแต่ปฐมวัยจะส่งผลต่อพฤติกรรมของเด็กตั้งแต่เยาว์วัยแล้วจะค่อยๆ กลายเป็นลักษณะเฉพาะตัวของคน ๆ หนึ่งการสร้างเจตคติแก่เด็กปฐมวัย เพื่อให้เด็กปฐมวัยเรียนรู้ที่จะดำรงอยู่ในสังคมอย่างมีคุณค่า รู้หน้าที่และความรับผิดชอบ มีความเคารพในตนเองและผู้อื่น เพื่อให้มีจิตสำนึกในความเป็นพลเมืองไทยและพลโลกซึ่งสิ่งเหล่านี้จะต้องมีการบ่มเพาะและเสริมสร้างตั้งแต่วัยเด็ก เพื่อให้เด็กปฐมวัยมีพฤติกรรมที่เหมาะสม สามารถอยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคมได้ด้วยความเคารพซึ่งกันและกันอย่างเสมอภาค อย่างไรก็ตามการพัฒนาเด็กปฐมวัยให้มีพัฒนาการที่เหมาะสมตามช่วงวัยจำเป็นที่จะต้องพัฒนาทักษะและเจตคติที่ดีของผู้ดูแลเด็กปฐมวัยด้วย ทั้งนี้ สิ่งสำคัญในการบ่มเพาะเจตคติของเด็กปฐมวัยคือ ต้องให้ความรู้ ส่งเสริมทักษะและสร้างเสริมเจตคติที่ดีแก่ผู้ดูแลเด็กปฐมวัย และบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการดูแลเด็กปฐมวัยให้มีจิตวิญญาณของความเป็นผู้ดูแลเด็กมีคุณธรรมจริยธรรม ความสามารถในการดูแลเด็กปฐมวัยตามหลักการการพัฒนาเด็กปฐมวัย ซึ่งสอดคล้องตามที่ได้กำหนดไว้ในมาตรา ๒๓ วรรคสอง และ มาตรา ๒๗ (๑) ของกฎหมายฉบับนี้

บทสรุป 

          พระราชบัญญัติการพัฒนาเด็กปฐมวัย พ.ศ. ๒๕๖๒ ถือเป็นนิมิตหมายอันดีในการพัฒนาเด็กปฐมวัยของประเทศไทย โดยมีหน่วยงานที่ทำงานเกี่ยวข้องกับเด็กปฐมวัยโดยตรงทุกภาคส่วนร่วมกันดำเนินการพัฒนาเด็กปฐมวัยให้มีพัฒนาการที่ดีและเหมาะสมตามวัยอย่างเป็นเอกภาพ และชัดเจนยิ่งขึ้น ซึ่งเป็นไปตามหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการตามมาตรา ๑๔ (๖) โดยต้องสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ในการพัฒนาเด็กปฐมวัย



เอกสารอ้างอิง

ปรัชญาการศึกษา